ผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

วันที่ : 2023.09.13

 

ผามออีแดง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และนักท่องเที่ยวนิยมมาดูพระอาทิตย์ขึ้นกันตอน 6 โมงเช้า แต่วันนี้เราจะพามาเที่ยวในตอนที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว สถานที่ท่องเที่ยว ผามออีแดงเป็นจุดท่องเที่ยวที่ไปง่าย อยู่ใกล้ลานจอดรถแค่ 200 เมตรเท่านั้น ก็จะเป็นจุดชมวิวมุมสูง และมีจุดท่องเที่ยวอยู่หลายจุดในพื้นที่เดียวกัน อาทิ ผามออีแดง สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำ และเสาธงประวัติศาสตร์สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งจุดนี้สามารถมองเห็นเขาพระวิหารในเขตกัมพูชาได้ไกลๆ 

 

จอดรถเสร็จ ก่อนจะเดินถึงผามออีแดง เราก็มาดูกันก่อนว่า บริเวณนี้มีอะไรให้น่าศึกษาบ้าง และกฎการเข้าเยี่ยมชม

 

 

ผามออีแดง เป็นหน้าผาหินสีแดง หักชันลงสู่ด้านล่าง เป็นเขตกั้นระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งตลอดแนวผายาว 300 เมตร ซึ่งวิวด้านล่างทั้งหมด คือ ประเทศกัมพูชา

 

หน้าผามออีแดงความยาวประมาณ 300 เมตร เป็นหน้าผาชันที่ฝั่งหนึ่งคือประเทศไทยส่วนอีกฝั่งคือจังหวัดพระวิหารของประเทศกัมพูชา เดิมผาแห่งนี้ชื่อ “เนิน45” ตามลักษณะทางกายภาพที่เป็นเนินความชันประมาณ 45 องศา แต่ชื่อ “ผามออีแดง” มาจากตำนานที่เล่ากันมาว่าประมาณปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม มีคณะครูเดินทางมาที่นี่เพื่อศึกษาปราสาทเขาพระวิหารหนึ่งในนั้นชื่อครูแดง เมื่อเดินทางมาถึง “เนิน45” รถของคณะครูเกิดอุบัติเหตุส่งผลให้ครูแดงเสียชีวิต ภายหลังเจ้าหน้าที่พบเห็นครูแดงบ่อยครั้งจึงเรียกที่นี่ว่า “ผามออีแดง” ซึ่ง "ผา" ก็คือหน้าผา "มอ" แปลว่าเนิน "อี" เป็นคำเรียกคนที่เปรียบเสมือนญาติ ส่วน"แดง"ก็คือครูแดงนั่นเอง ส่วนที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

 

จุดที่ 2 คือ ภาพสลักนูนต่ำ ที่อยู่บริเวณใต้ผามออีแดง อายุประมาณ 1,500 ปี ก่อนทางลงจะมีข้อมูลให้ศึกษากันก่อน และเมื่ออ่านจบแล้วก็เดินลงไปดูกัน 

 

 

พอเดินลงไปด้านล่างแล้ว สามารถเดินไปชมได้แต่จะมีประตูปิดไว้มีช่องให้พอมองเห็น จากลักษณะของเครื่องแต่งกายที่สลักไว้คาดว่าอยู่ในสมัย “เกาะแกร์” สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 928-944 ร่วมสมัยอยู่กับปราสาทพระวิหาร แต่ปราสาทพระวิหารทั้งหมดสร้างเสร็จหลังจากนั้นเป็นร้อยปี 

ภาพสลักนูนต่ำอยู่บนผนังหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งจะสะท้อนภาพที่งดงามจากแสงอาทิตย์ยามเช้า

 

 

ขาลงไม่เท่าไหร่ ขาขึ้นท้อแท้ยิ่งกว่า ก็ค่อยๆขึ้นนะ ช่วงที่เราไปเป็นหน้าร้อน ก็เหนื่อยระดับ 9 เลย cry

 

เสาธงประวัติศาสตร์สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ มีศาลาให้นั่งพักและมีแบริเออของทหารอยู่ และบนศาลาสามารถมองเห็นเขาพระวิหารที่อยู่ฝั่งกัมพูชาได้ไกลลิบๆ ซึ่งห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร

 

 

จุดต่อไป คือ สถูปคู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจุดนี้เดินจากบริเวณหน้าผามออีแดงไปประมาณ 300 เมตรจะพบกับ “สถูปคู่” สูง 4.20 เมตร กว้าง 1.93 เมตรสร้างด้วยหินทรายแดงศิลปะแบบปาปวน พบฐานโยนีและศิวลึงค์ คาดว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่พบที่อื่น ช่องที่เห็นอยู่ด้านหน้าเป็นช่องที่ถูกเจาะภายหลังน่าจะถูกเจาะเพราะต้องการหาของมีค่า 

 

 

 

ก่อนไป....ทริปนี้เราหาข้อมูลพบว่ามีอีกปราสาทที่อยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร แต่จาก Google map ดันไปอยู่ฝั่งกัมพูชา แต่ในเวปหลายเวปก็บอกว่าอยู่ฝั่งไทย เลยถามจากพี่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ตรงผามออีแดง พี่เจ้าหน้าที่บอกว่าไปเที่ยวได้แต่อย่าเดินสะเปะสะปะออกนอกเส้นทางเพราะ “ระเบิดเยอะ” อืม...เที่ยวได้แต่ระเบิดเยอะ undecided

ขับรถย้อนกลับมาทางทางเข้าอุทยานประมาณครึ่งทาง เลี้ยวขวาไปจนสุดทางจะเจอค่ายทหาร ที่นี่มีปราสาทโดนตวล ปราสาทขนาดเล็กที่สร้างจากศิลาแลงคาดว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อายุใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหาร

 

จอดรถเสร็จนั่งคิดว่าจะลงดีหรือเปล่า...เพราะเงียบเหลือเกินไม่มีใครเลย นักท่องเที่ยวก็ไม่มี ทหารก็ไม่มี แต่ระเบิดน่ะไม่รู้ น่าจะมี...แต่ไหนๆก็มาแล้วลงไปดูกัน ตัวปราสาทเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ หันหน้าไปทิศตะวันออก หน้าปราสาทมีทางเดินปูด้วยหินเข้าสู่ตัวปรางค์ 

 

ตำนานเล่าว่า มีสัตรีสูงศักดิ์นางหนึ่งรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่อาภัพนักหน้าอกใหญ่จนต้องเอาสายสร้อยทองคำทำเป็นสาแหรกรองรับไว้ เมื่อกษัตริย์ขอมรู้เรื่องจึงรับสั่งให้อำมาตย์มารับนางไปเข้าเฝ้า ระหว่างเดินทางอยู่นั้น “ตาเล็ง” ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกับสัตรีสูงศักดิ์นางนั้นมาตามนางกลับ แต่เหล่าอำมาตย์ไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้กัน “ตาเล็ง” ถูกฆ่าตายและทิ้งศพไว้ในป่าบริเวณที่สร้างปราสาท 

 

🍂 ผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
📌 ที่ตั้ง: ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ
☎️ เบอร์: 045-826-045
⏰ เปิด-ปิด: ทุกวัน เวลา 05.00-18.00 น.
💰 ค่าเข้าอุทยาน: 40 บาท/คน และค่ารถยนต์ (4ล้อ) 20 บาท/คัน
🚗 Map: https://goo.gl/maps/yQWnapgHUXzktwdt9