ปราสาทหินพนมรุ้ง
วันที่ : 2023.06.23
เที่ยวบุรีรัมย์ สถานที่ท่องเที่ยวที่เราห้ามพลาดเด็ดขาด คือ "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง" หรือ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" ซึ่งเราก็ไม่พลาด ต้องมาดูความสวยงาม อลังการและความขลังของที่นี่กัน
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินกลุ่มราชมรรคา ปราสาทหินนี้ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ "พนมรุ้ง" มาจากภาษาเขมร แปลว่า ภูเขาใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18
เขาพนมรุ้ง เปรียบเสมือน เขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะ เพราะปราสาทนี้สร้างขึ้นโดยศาสนาฮินดู ที่มีพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด
แผนผังของปราสาทหินพนมรุ้งจะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ประสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารทีเรียกว่า "พลับพลาเปลื้องเครื่อง" ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของกษัตริย์ ก่อนเสร็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้า หรือ ประกอบพิธี
พลับพลาเปลื้องเครื่อง อยู่ด้านขวาของบันได ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของกษัตริย์ ก่อนเสร็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้า หรือ ประกอบพิธี
ทางดำเนิน เป็นลักษณะทางเดินสำคัญที่นำไปสู่ปราสาทบนยอดเขา ปูด้วยพื้นศิลาแลง เป็นทางเชื่อมระหว่างซุ้มประตูชั้นนอกกับสะพานนาคราชช่วงที่ 1 และสองข้างทางดำเนินมี "เสานางเรียง" หรือ "เสานางจรัล" จำนวน 70 ต้น ส่วนบนของเสามีลักษณะคล้ายดอกบัว
สะพานนาคราช ช่วงที่ 1 ในคติของศาสนาฮินดู เปรียบเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกมนูษย์กับเทพเจ้า ซึ่งก่อด้วยหินทราย แผนผังเป็นรูปกากบาท ยกพื้นสูง มีบันไดทางขึ้นเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกา ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาคห้าเศียรแผ่พังพานออกไปทั้งสี่ทิศ
ภาพสลักบัวแปดกลีบ หมายถึง จุดกำหนดในการตั้งจิตอธิษฐานบูชาเทพเจ้า หรือ หมายถึง การจำลองแผนผังของจักรวาล อันประกอบด้วยทิศสำคัญทั้ง 8 ทิศ
เราก็เดินชมความยิ่งใหญ่ อลังการของปราสาทหินพนมรุ้ง และแต่ละจุดก็จะมีคำบรรยายให้เราได้ศึกษาว่าแต่ละจุดมีความเป็นมาอย่างไร
ภาพสสลักหน้าบันซุ้มประตูทิศตะวันออก หมายถึง พระศิวะในภาคของมหาโยคีผู้ยิ่งใหญ่ ถือประคำในพระหัตถ์ขวา ประทับนั่งลลิตาสนะ (ห้อยพระบาท) แวดล้อมด้วยบริวาร พระองค์สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยมนตร์คาถา
ภาพสลักทับหลัง ชื่อ "นารายณ์บรรทมสินธุ์" แสดงภาพพระนารายณ์ เกี่ยวกับการกำเนินของโลกและจักรวาล พระนารายณ์บรรทมอยู่เหนือพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่ง ท่ามกลางเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม)
ภายในบริเวณปราสาทก็จะมีภาพสลักทับหลังอีกหลายจุด เราเดินดูรอบๆปราสาทกันไปประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เดินได้รอบปราสาทกันแล้ว
ปราสาทหินพนมรุ้ง
ที่ตั้ง: บ้านดอนหนองแหน ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
เวลา: ทุกวัน ตั้งแต่ 07.00 - 18.00 น.
ค่าเข้า: คนไทย 20 บาท และ คนต่างชาติ 100 บาท
FB: https://www.facebook.com/prasathinphanomrung
Map: https://goo.gl/maps/BYgBuSzZCmSv7xvz8
ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เนื่องจากได้มีการขุดพบศิวลึงค์ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะที่บริเวณปราสาทประธาน
ความสำคัญของปราสาทแห่งนี้ลดลงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และถูกทิ้งร้าง จนเมื่อ 50-60 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากจ.นครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี ได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้อีกครั้ง
ปราสาทหินเมืองต่ำ
ที่ตั้ง: ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
เวลา: ทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น.
ค่าเข้า: คนไทย 20 บาท และ คนต่างชาติ 100 บาท
Map: https://goo.gl/maps/Z5mW7JtcZfsaJzYz6
ปราสาทบ้านบุ จัดเป็นศาสนสถาน (ธรรมศาลา) ประจำที่พักคนเดินทาง 1 ใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้สร้างขึ้นบนเส้นทางหลวงจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย
เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง สันนิษฐานว่า วัสดุก่อสร้างน่าจะนำมาจากปราสาทอื่นที่ชำรุดพังลง ทำให้พบการปนเปกันของส่วนต่างๆของปราสาท ที่จัดวางใหม่ ไม่อยู่ในตำแหน่งเดิมที่เคยเป็น
ปราสาทบ้านบุ
ที่ตั้ง: ต.จรเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ (อยู่ในโรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์)
เวลา: ทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 - 18.00 น.
Map: https://goo.gl/maps/mwYySmHNL9sCevoF8
ใครที่จะมาเที่ยวที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อาจจะต้องฟิตร่างกายกันสักหน่อย เพราะเดินไกล และมีเดินขึ้นบันไดค่อนข้างสูง และช่วงนี้อากาศร้อน ก็ต้องค่อยๆเดินกันด้วยนะ